วันพุธที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2554

เที่ยวต่างวิถี ดูชีวิต 12 เดือน ชาวม้ง บ้านเข็กน้อย

บางคนบอกว่า การมาเที่ยวเพชรบูรณ์ครั้งนี้นั้นนับว่าได้เห็นสภาพที่แตกต่างจากที่เคยผ่านแล้วเห็นมา
 สมัย ก่อนเพชรบูรณ์ดูแห้งแล้ง สองเส้นทางที่ผ่านก็เห็นภูเขาหัวโล้น ต้นไม้ใหญ่หายาก แต่พอมาคราวนี้ เมืองมะขามหวานแห่งนี้กำลังเปลี่ยนไป อากาศตามภูเขาหลังฝนตกช่วยให้คณะเดินทางรู้สึกชุ่มชื่นใจ และเหตุที่ช่วยให้ใจเบิกบานส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะเวลาที่มองไปทางไหนก็เห็น แต่ความเขียวของต้นไม้ใบหญ้า
 เมืองเล็กๆ ที่เคยกลายเป็นทางผ่านดูเหมือนไม่มีอะไรให้ต้องลงไปดู กลายเป็นอาณาจักรที่น่าสนใจสำหรับนักเดินทางที่รักการท่องเที่ยวเชิง ธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรม และวิถีชีวิต
 ระยะหลังชื่อของ “ผาซ่อนแก้ว” ยังเป็นแหล่งปฏิบัติธรรมที่ขึ้นชื่อไปในแวดวงนักปฏิบัติที่อยากสร้างความผ่องใสให้จิตใจ
 ตาม กำหนดการ พวกเราคณะเดินทางหรือสื่อมวลชนสายท่องเที่ยว ที่มาร่วมกิจกรรม 84 พรรษาตามรอยพระบาทยาตรา โดยมีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้ให้การสนับสนุนนั้น ต้องไปดูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชาวม้งที่อาศัยอยู่บริเวณบ้านเข็กน้อย ขึ้นกับอำเภอเขาค้อ จ.เพชรบูรณ์
หมู่บ้านวัฒนธรรมชาวเขาบ้านเข็กน้อย จังหวัดเพชรบูรณ์ ถือเป็นหมู่บ้านม้งที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และมีกิจกรรมท่องเที่ยวซึ่งหาดูได้ยาก เช่น ชมการจำลองวิถีชีวิตชาวม้ง ชมการแสดงทางวัฒนธรรม อาทิ  วิถีชีวิต 12 เดือนของม้ง  รำแคน ระบำกระดัง ระบำขลุ่ย เดินแบบชุดม้ง
ตบท้ายด้วยการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ของชาวม้ง อาทิ ผ้าปักลาย พืชผักการเกษตร ตามปกติจะเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ค่าเข้าชมคนละ 10 บาท หากมาที่นี่แล้วยังสามารถเดินทางต่อไปยังแหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง เช่น ภูทับเบิก เขาค้อ ทุ่งแสลงหลวง ได้อีก
การมารวมตัวเป็นหมู่บ้านชาวม้ง เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ช่วงนั้นเกิดเหตุการณ์ไม่สงบในบริเวณพื้นที่นี้ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่ง ประเทศไทยกับรัฐบาล เกิดการต่อสู้กันทั้งแบบปะทะกันโดยตรงและการใช้สงครามจิตวิทยาเพื่อดึงคนมา เข้าเป็นพวกพ้อง ท้ายที่สุดมีการเผาทำลายชุมชนเข็กน้อยเก่า ทำให้ชาวม้งกระจัดกระจายไปตามสถานที่ต่างๆ บางกลุ่มของชาวม้งเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยโดยอพยพเข้าไป อาศัยอยู่ในป่า
บางกลุ่มของชาวม้งอพยพเข้าไปอยู่ในเมือง เช่น จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเลย จังหวัดเพชรบูรณ์ การอพยพครั้งนี้ทำให้ชาวม้งซึ่งเคยอยู่รวมกันต้องแยกย้ายกระจายตามที่ต่างๆ ทำให้ยากต่อการควบคุมดูแลของรัฐบาล
บ้านเข็กน้อย อยู่ห่างจากถนนมิตรภาพสายพิษณุโลก-หล่มสัก ที่กิโลเมตร 94 เพียง 2 กิโลเมตร
เป็น หมู่บ้านที่มั่งคั่งแห่งหนึ่งของชาวม้งในพื้นที่ 3 จังหวัด มีโรงเรียนชาวเขาที่ทางราชการตั้งให้ มีหน่วยสอนศาสนาคริสเตียน แต่เดิมมีคนอยู่ 600 คน ภายหลังชาวม้งส่วนใหญ่กับมิชชันนารีอพยพเข้ามาอยู่กับฝ่ายไทย
ปี พ.ศ.2514 ได้มีการอพยพกลับมาอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่อีกครั้ง โดยกองทัพภาคที่ 3 ได้ระดมชายที่มีอายุระหว่าง 18-25 ปีที่เป็นชาวม้ง และหลบหนีคอมมิวนิสต์เพื่อเข้ารบและรับการฝึกอาวุธ ทหารเหล่านี้เรียกเป็นทางการว่าทหารชาวเขาอาสาสมัครเขาค้อ คือ กองร้อย ชขส. 31 ซึ่ง จุดที่พักค่ายทหารในช่วงนั้นคือ ตำบลเข็กน้อยในปัจจุบัน อาจจะถือได้ว่า กองร้อยทหารชาวเขาอาสาสมัครเป็นจุดกำเนิดของหมู่บ้านชาวม้งในปัจจุบันนี้ก็ เป็นได้
ชาวม้งดังกล่าวมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือประเทศชาติในการต่อสู้ กับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ในช่วงเวลาเหล่านั้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ การได้มาเป็นทหารอาสาของชาวม้งในเวลานั้นมีด้วยกันหลายวิธี เช่น การสมัครใจของชาวม้ง มาด้วยคำสั่งของรัฐบาล และมาโดยถูกเลือกจากทหาร
เหตุผล ของการสมัครมาเป็นทหารอาสาชาวเขาในกองทัพไทยเพื่อต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเวลา นั้น วิเคราะห์จากการตอบคำถามและพูดคุยกับทหารและผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านมีดัง นี้
เพื่อเป็นการแสดงว่าชาวม้งมีความจงรักภักดีต่อรัฐบาลไทย และมีความรักชาติไทย ชาวม้งได้สมัครเป็นทหารอาสาในกองทัพไทย อีกทั้งบริเวณพื้นที่ซ่องสุมของพรรคคอมมิวนิสต์มีลักษณะเป็นป่าเขา เป็นเหว เป็นถ้ำ ซึ่งเป็นการยากต่อการเข้าไปในพื้นที่ของทหารไทยที่ไม่คุ้นเคยกับลักษณะ ภูมิประเทศเช่นนี้ รัฐบาลจึงรับทหารอาสาชาวม้งซึ่งเป็นกลุ่มที่เคยอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ก่อนมา ช่วยและลาดตระเวนหาข่าวให้กับทหารไทย
ชาวม้งที่อพยพลงมาอาศัยอยู่กับคน พื้นราบ ไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศร้อน ชาวม้งไม่มีที่ดินทำกิน ดังนั้นเพื่อให้ชาวม้งมีที่อยู่ที่ถาวร มีที่ดินทำกินทำอาชีพเกษตรกรรม จึงสมัครมาเป็นทหารอาสาช่วยรบในเวลานั้น เมื่อสามารถสู้รบและแย่งพื้นที่ในบริเวณพื้นที่ชุมชนเข็กน้อยเป็นผลสำเร็จ แล้ว ทหารได้จัดตั้งค่ายพักทหารในบริเวณดังกล่าว มีชื่อเรียกว่า กองร้อย ชขส.31 เพื่อเป็นสถานที่จัดเตรียมพื้นที่ด้านอาหาร ที่พัก และได้อนุญาตให้ชาวม้งไปรับครอบครัวมาอยู่ด้วยกันในพื้นที่ตั้งค่าย
ใน ช่วงก่อนจะเกิดการสู้รบระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยและรัฐบาลไทย นั้น ในพื้นที่บริเวณนี้เป็นที่ที่ชาวเขาได้มาทำไร่อยู่เป็นประจำ แต่เมื่อเกิดการสู้รบ จึงไม่มีใครกล้าจะเข้าไปทำไร่ในพื้นที่เหล่านี้
 จน กระทั่งทหารอนุญาตให้ทหารอาสาชาวม้งและครอบครัวอาศัยอยู่ที่นี่ อีกทั้งถนนเข้า-ออกหมู่บ้านมีถนนใหญ่ตัดผ่าน คือ เส้นทางหล่มสัก-พิษณุโลก ทำให้สะดวกและง่ายต่อการเข้ามาดูแลของรัฐบาลและทหาร ดังนั้นการเข้ามาตั้งค่ายพักทหารในบริเวณนี้ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อสร้างชุมชนเข็กน้อย และต้องอยู่ภายใต้การดูแลของทหาร
 ทุกวันนี้ หมู่บ้านเข็กน้อยกลายเป็นจุดหนึ่งที่นักท่องเที่ยวไปแล้วต้องหยุด คนในหมู่บ้านก็จะมีจัดการแสดงจำลองวิถีชีวิตมาให้ดูที่โรงแสดงของหมู่บ้าน ส่วนผู้แสดงก็คือหนุ่มสาวชาวม้งในหมู่บ้านที่ฝึกกันขึ้นมานั่นเอง
เนื้อหา ของการร่ายรำที่นำมาแสดงเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิถีชีวิต เช่น ก ารเกี่ยวข้าว การทำนา ความสวยงามอยู่ที่การชุดแต่งกายประจำเผ่า แต่ถ้าใครอยากได้บรรยากาศแบบของจริง ต้องมาร่วมงานที่เป็นประเพณีขึ้นปีใหม่ของชาวม้งที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
 การ มาดูเรื่องต่างวัฒนธรรมต่างประเพณีอย่างนี้ สิ่งหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต้องระมัดระวังคือ เรื่องของความคิด ต้องคิดแบบสีเขียวตามแนวคิดเขียว 7 อย่าง หรือ 7 Greens เพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน หรืออาจใช้สูตรเที่ยวไทยหัวใจใหม่ สิ่งแวดล้อมสดใส เมืองไทยยั่งยืน ตามแนวคิดที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) พยายามรณรงค์กันอยู่
 การคิดแบบสีเขียวที่ว่าคือ การไม่มองว่าม้งคือของแปลก แต่ต้องดูว่าเขาก็เป็นมนุษยชาติเหมือนเรา เพียงแต่ความเป็นอยู่ ประเพณีวัฒนธรรมต่างจากเรา และน่าสนใจว่าต่างกันอย่างไร นี่คือความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ร่วมโลก
 สิ่งสำคัญคือ ไม่มองว่าพวกเขาเป็นตัวตลก เป็นไม้ประดับ หรือเป็นคนที่มาอาศัยผืนแผ่นดินเราอยู่เท่านั้น
 พระ พุทธองค์ตรัสว่า ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน สิ่งทั้งหมดสำเร็จได้ด้วยใจ ดังนั้นหากเราไปท่องเที่ยวด้วยความคิด ความรู้สึกที่เบิกบาน พร้อมรับในสิ่งที่แตกต่าง พร้อมแบ่งปันในสิ่งที่ตนมี เท่านี้ การท่องเที่ยวทริปนั้นก็ถือว่าเป็นการเติมพลังให้ชีวิตได้แล้ว
 ด้วยเหตุ นี้ พวกเราชาวคณะจึงปิดท้ายด้วยการช็อปปิ้งของฝาก อันเป็นงานฝีมือของชาวม้ง เพื่อเป็นการกระจายรายได้ให้กับชุมชนที่เราไปเยี่ยมเยือน ตามสไตล์การท่องเที่ยวแบบไทยๆ และจากมาด้วยความสุขเช่นเคย

ข้อมูลจาก ไทยโพสต์