วันอาทิตย์ที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ซ่งจู่ยิง (Song Zuying)นักร้องชาวม้งที่โด่งดังไปทั่วโลก


Song Zuying - Mengjiang Girl 孟姜女
ซ่งจู่ยิง (Song Zuying) 宋祖英ดอกไม้พงไพร ชูช่อสง่างามในวงการดนตรีจีน
ดอกไม้ ไม่ว่าจะบานชูช่อ ณ แห่งหนใด มันคงยังรักษาความงามของมันแต่ระหว่างดอกไม้ในสวนกับดอกไม้ในป่าดงพงไพรนั้น ถึงแม้ล้วนจะเป็นดอกไม้เหมือนกัน แต่จุดแตกต่างระหว่างดอกไม้ทั้งสองคือ ดอกไม้ในป่าดงพงไพรเติบใหญ่ขึ้นตามความเป็นจริงแห่งธรรมชาติ มีความแข็งแกร่งในท่ามกลางความอ่อนช้อยสวยงาม สำหรับดอกไม้ในสวนเติบใหญ่จากการดูแลของคน หรืออาจถึงขั้นเจือปนสิ่งแปลกปลอมเพื่อความงามที่อาจผิดแผกธรรมชาติ
ซ่งจู่ยิง 宋祖英นักร้องเสียงโซปราโน (Soprano) ชื่อนี้อาจไม่เป็นที่คุ้นหูสำหรับนักฟังเพลงทั่ว ๆ ไปนัก นอกจากคนที่ติดตามวงการศิลปะการแสดงและการขับร้องของจีนอย่างใกล้ชิด สำตัวผมเองก็ต้องยอมรับว่ารู้จัก โดยบังเอิญ อันเนื่องจากรับชมทีวีหูหนาน 河南(Hunan TV) ในช่วงตรุษจีนที่ผ่านมา พอดีทางสถานีนำเอาเทปบันทึกการแสดงสดของซ่งจู่ยิงที่แสดงที่ซิดนีย์โอเปร่าเฮาส์(Sydney Opera House) ประเทศออสเตรเลีย อันเนื่องในโอกาสครบรอบ 30 ปีในความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างประเทศจีนกับประเทศออสเตรเลีย (ของไทยครบรอบ 30 ปีความสัมพันธ์ไทย-จีนปีนี้เอง) การได้ชมการขับร้องเพลงของเธอแวบแรกต้องบอกว่า” โดนเต็มๆ”ด้วยน้ำเสียงที่ใส ๆ ซึ้ง ๆ เสียงสูงสามารถไต่ขึ้นได้อย่างราบรื่น อีกทั้งหน้าตาที่สวยแตกต่างจากสาวจีนแบบหมวย ๆ ทั่วไป เนื่องจากเธอเป็นชนเผ่าแม้ว
ซ่งจู่ยิงเหมือนกับดอกไม้ป่าช่องามที่เกิดในหมู่บ้านชาวแม้วที่หมู่บ้านเซียงซี 湘西 อำเภอกู่จ้าง 古丈县 มณฑลหูหนาน 河南省หมู่บ้านเซียงซีเป็นหมู่บ้านยากจนที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ชีวิตในวัยเด็กของเธอจึงเรียบง่ายเหมือนชาวเขาทั่ว ๆ ไป เธอฝึกร้องเพลงตั้งแต่เด็กตามแม่ที่ร้องเพลงพื้นบ้านของชาวแม้ว โดยไม่ได้รับการฝึกฝนด้านการร้องเพลงที่ถูกต้องตามระบบจนเมื่อเธออายุ 15 แล้ว ประกายแววความสามารถของเธอเริ่มฉายเมื่อตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมต้น เมื่ออาจารย์เถียน田老师 กับอาจารย์หลอ罗老师จากคณะการแสดงประจำอำเภอมารับสมัครนักร้องเข้าคณะ เธอได้รับการคัดเลือกจากผู้สมัครทั้งหมดยี่สิบกว่าคน เธอเข้าร่วมคณะได้สี่ปีก็สอบเข้า Chinese Nationality University ในคณะการขับร้องและเต้นรำ(Music and Dance Department) ในสาขาการขับร้องเพลงพื้นบ้าน (folkvocal) ในจุดนี้เองที่เธอได้รับการฝึกฝนด้านการขับร้องอย่างถูกต้องเป็นระบบ ภายใต้การดูแลของอาจารย์โจวเปิ่นชิ่ง 周本庆 ทำให้มาตรฐานการขับร้องของเธอสูงขึ้นมาก หลังจากนั้นเธอก็ออกล่ารางวัล เริ่มไต่จากการได้ที่ 1 ในระดับมลฑลจนถึงระดับประเทศ ปี 1989 เธอปรากฏตัวในสถานีโทรทัศน์ CCTV ครั้งแรก เนื่องในโอกาสรำลึกเหตุการณ์ 4 พฤษภาคม五四运动 (เป็น เหตุการณ์เกิดในปี ค.ศ.1919 ที่เหล่าปัญญาชนและประชาชนผู้รักชาติลุกขึ้นมาต่อต้านจักรวรรดินิยมญี่ปุ่นที่เข้ามารุกรานจีนพร้อมกับทำสนธิสัญญาที่เอาเปรียบคนจีน ขณะเดียวกันก็ต้องการโค่นล้มระบอบการปกครองที่เน่าเฟะของรัฐบาลจีนในสมัยนั้น)

ในปี 1991 เธอได้ปรากฏตัวทาง CCTV อีกครั้งเนื่องในโอกาสวันตรุษจีน ซึ่งในขณะนั้นเธอได้จบการศึกษาจาก Chinese Nationality University และ ได้ศึกษาเพิ่มเติมจากอาจารย์จินเถ่หลิน 金铁林 เพื่อยกระดับความสา-มารถขึ้นอีกระดับ การปรากฏตัวใน CCTV คราวนี้ ทำให้เธอเริ่มเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในหมู่ชาวจีนโพ้นทะเล (CCTV เป็นเครือข่ายโทรทัศน์ของรัฐบาลจีนที่ถ่ายทอดผ่านดาวเทียมสามารถรับชมได้ทั่วโลก) จากจุดนี้เองซ่งจู่ยิงจึงเป็นนักร้องที่ทาง CCTV ขาดไม่ได้ในการออกอากาศในเทศกาลตรุษจีนในปีต่อ ๆ มา
การเดินทางสู่อนาคตของซ่งจู่ยิงไม่ได้แตกต่างจากชาวบ้านยากจนทั่วๆไปเธอเสียคุณพ่อเมื่อยังเด็ก เนื่องจากความยากจนที่ไม่มีเงินรักษาคุณพ่อที่ป่วยเป็นวัณโรค สำหรับน้องชายเองก็เป็นใบ้เนื่องจากกินยาผิด เมื่อเธอจบการศึกษาแล้ว เธอก็เข้ารับราชการในกองทัพปลดแอกประชาชนจีน โดยสังกัดกองทัพเรือ ซึ่งคงเป็นวิถีของคนจนทั่ว ๆ ไปที่ยึดอาชีพข้าราชการเพื่อความมั่นคงไว้ก่อน ซึ่งเป็นแนวคิดที่คนในวัยประมาณ 40 หรือรุ่นที่เกิด ในยุคหลังปฏิวัติวัฒนธรรม 文化大革命 ในช่วงที่ประเทศจีนยังไม่เปิดประเทศมักเดินตามแนวนี้ (เพื่อนชาวปักกิ่งผมเองก็เหมือนกัน รับราชการในหน่วยงานการค้าของรัฐ มีอยู่ช่วงหนึ่งมาประจำที่กรุงเทพฯเพื่อวิ่งเต้นประมูลขายกระดาษห่อบุหรี่ให้กับโรงงานยาสูบ เพื่อนมักจะบ่นเสมอว่าเงินเดือนไม่กี่ตังค์ สู้ภรรยาเขาที่ประกอบธุรกิจส่วนตัวไม่ได้ แต่ที่ยังทนรับราชการเนื่องจากต้องการให้คนใดคนหนึ่งมั่นคงไว้ก่อน) แต่การรับราชการของเธอคงไม่ใช่แค่ยึดเป็นอาชีพเพื่อความมั่นคงเท่านั้น แต่เธอสามารถเป็นถึงตัวแทนของสภาประชาชนจีน (Representative of the National People Congress) ประจำมณฑลหูหนาน
สำหรับเสน่ห์ของซ่งจู่ยิงนั้น นอกจากน้ำเสียงที่ใส ไพเราะแล้ว หน้าตาและกิริยาที่อ่อนช้อยอ่อนโยนที่ดูจะแตกต่างจากสาวจีนทั่ว ๆ ไป การวางตัวและใช้ชีวิตที่เพียบพร้อมไปตัวคุณสมบัติของกุลสตรี ครั้งแรกที่ได้เห็นเธอนั้น ทำให้ผมนึกถึงอดีตนักร้องสาวไทยคนหนึ่งในวงโฟล์คซองคำเมืองของคุณจรัล มโนเพชร นั่นคือคุณสุนทรี เวชานนท์ ซึ่งมีคุณสมบัติที่คล้าย ๆ กันคือความสวย กิริยาที่อ่อนโยน น้ำเสียงที่ใส ไพเราะ ที่สำคัญคือ คนเผ่าแม้วกับคนล้านนา หน้าตาผิวพรรณดูช่างเหมือนคนบ้านเดียวกัน


ซ่งจู่ยิง (Song Zuying) 宋祖英ดอกไม้พงไพร ชูช่อสง่างามในวงการดนตรีจีน-3
การไปแสดงคอนเสิร์ตที่ซิดนีย์โอเปร่าเฮาส์ ประเทศออสเตรเลียถือเป็นการแสดงเดี่ยวในต่างประเทศครั้งแรกของเธอ และเป็นศิลปินชาวเอเชียคนแรกที่ได้มาแสดง ณสถานที่แห่งนี้ แต่ดูเธอจะมีความมั่นใจและสามารถเข้ากันได้อย่างดีกับเพื่อนร่วมทำงานอย่างคณะคอรัส(Chorus) ที่มีทั้งชาวออสซี่ฝรั่งและเชื้อสายคนเอเชียร่วมสองร้อยชีวิตนักดนตรีในวงซิมโฟนีที่แบคอัพให้ ตลอดการแสดงเธอสามารถตรึงสมาธิของทุกคนอย่างกับต้องมนต์สะกด การแสดงครั้งนี้ใช้ชื่องานว่า“วันดีชื่นสุข” 好日子 หรือ Good Days อำนวยเพลงโดย อยู๋หลง 瑜隆 (Yu Long) การแสดงเริ่มต้นด้วย
เพลงที่ 1 茉莉花 Jasmine Flower หรือ ดอกมะลิ เป็นเพลงพื้นบ้านของ เจียงซู 江苏(Jiang Xu) เธอปรากฏตัวในชุดขาวสะอาดราวกับดอกมะลิหลังจากวงซิมโฟนีขึ้นอินโทร เพลงนี้เหมือนกับอุ่นเครื่องเรียกน้ำย่อย เป็นเพลงจังหวะเรียบ ๆ ฟังสบาย
เพลงที่ 2 辣妹子 Spice Girl หรือแม่สาวเผ็ดร้อน บทเพลงพื้นบ้านของหู-หนาน 湖南(Hunan)จังหวะในเพลงนี้เผ็ดสมชื่อ เป็นจังหวะเร็ว สนุกสนานดูจากสีหน้าท่าทางของทั้งคนร้อง คนสีไวโอลิน รวมทั้งผู้อำนวยเพลงต่างก็โยกตัวตามจังหวะเพลง
เพลงที่ 3 小背篓 Little Back-basket หรือตะกร้าน้อยบนหลัง เป็นเพลงที่ซ่งจู่ยิงร้องรำลึกถึงบ้านเกิด และชีวิตในวัยเด็กที่คุณแม่เธอจับเธอใส่ตะกร้ากระเต็งไว้บนหลังเวลาออกไปทำงานในสวน และเนื่องจากการทำงานในสวนทั้งวัน บ่อยครั้งที่หนูซ่งหลับปุ๋ยในตะกร้าบนหลัง และหลายครั้งก็ปัสสาวะรดหลังคุณแม่ แต่คุณแม่ก็เหลียวหลังมองหน้าลูกน้อยพร้อมส่งยิ้มอย่างอบอุ่น ซึ่งรอยยิ้มแม่ยังตราตรึงในหัวใจของซ่งจู่ยิงจนทุกวันนี้เพลงนี้ฟังแล้วต้องอมยิ้มในความน่ารักและอบอุ่น
เพลงที่ 4 海风阵阵愁煞人, 珊湖颂 Sea Breeze Makes Me Sadเพลงนี้ฉีกจากบทเพลงอื่น ๆ ซึ่งล้วนเป็นเป็นพื้นบ้าน แต่เพลงนี้เป็นเพลงสมัยใหม่ที่แต่งขึ้นช่วงปฏิวัติ เพลงได้บรรยายถึงความทุกข์ยากของชาว-บ้านในสมัยสังคมเก่าก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง การร้องที่เศร้าสร้อยซึ่งแสดงออกทั้งทางน้ำเสียงและสีหน้า ทำให้อารมณ์ผู้เช้าชมถึงตราตรึงอยู่ในความสงบ เพลงนี้ซ่งจู่ยิงสามารถแสดงถึงพลังเสียงอันหนักแน่น แต่ยังคงความใสในขณะที่ไต่เสียงสูงขึ้นแบบสุด ๆ ทำให้ผู้ชมต้องปรบมือถึงสองครั้งสองครา
เพลงที่ 6 今日苗山歌最多 So many songs today on the MiaoPeople’s Land หรือมี่บทเพลงมากมายในแผ่นดินชาวแม้ว เพลงนี้ซ่งจู่ยิงมาในชุดของชนเผ่าแม้วอันสวยงาม เพลงนี้เป็นเพลงจังหวะสนุกบรรยายถึงแผ่นดินของชาวชนเผ่าแม้วที่อยู่อย่างมีความสุข เต็มไปด้วยเสียงเพลงและน่าจะสะท้อนชีวิตของซ่งจู่ยิงเอง จากบทเพลงที่ร้องว่าชาวแม้วชอบร้องเพลง ภูผาคือบทเพลง และบทเพลงคือภูผา แสดงให้เห็นถึงทุกหนทุกแห่งของแผ่นดินชาวแม้วล้วนเต็มไปด้วยเสียงเพลง
เพลงที่ 14 爱我中华 Love my Chinaห รือรักประเทศจีนของฉัน เป็นเพลงก่อนจบการแสดง เพลงที่มีจังวหะหนักแน่น มีพลัง เสียงคณะนักร้องคอรัสสองร้อยชีวิต ร้องประสานเสียงเป็นแบ็กกราวเสริมพลังมากยิ่งขึ้นต้องยอมรับว่าทำให้เลือดลมรักชาติสูบฉีดพุ่งแรงในร่างกายของทุกคนที่มีสายเลือดมังกรเจือปน
เพลงที่ 15 Still call Australia Home เป็นการนำเพลงพื้นบ้านของออส-เตรเลียมาร้อง และเป็นเพลงเดียวในงานที่เธอร้องเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งแน่นอนต้องเป็นที่ชื่นชอบถูกอกถูกใจของชาวออสซี่ เพราะทุกคนในฮอลล์ต่างปรบมือไปตามจังหวะเพลงจนจบ
เมื่อจบการแสดงแล้ว ผู้ชมต่างลุกขึ้นยืนปรบมืออย่างกึกก้องและยาวนานซึ่งเป็นวัฒนธรรมในการชมการแสดงของชาวตะวันตกที่เป็นการให้เกียรติแก่ผู้แสดง จนม่านเวทีได้ปิดฉากลง ถึงแม้ม่านบนเวทีการแสดงจะปิดฉากลงแล้วก็ตาม แต่ม่านในดวงใจของทุกคนที่รับชมกลับเปิดฉากขึ้นต้อนรับซ่งจู่ยิง ดอกไม้ป่าช่องามไว้ในดวงในตลอดไป

บทความจาก

1 ความคิดเห็น: